วันพฤหัสบดีที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2553

วันไหว้ครู

ในวันนี้ก็เป็นวันครูนะครับ ก็อยากจะระลึกถึงพระคุณของครูทุกท่านที่ช่วยอบรมสั่งสอนมาโดยตลอดครับ
จึงได้นำเอาความหมายของดอกไม้ที่นำมาไหว้ครูในวันครูมาแนะนำให้เข้าใจถึงความหมายนะครับ
ความหมายของดอกไม้ไหว้ครู

ดอกมะเขือ

ดอกมะเขือ เป็น ดอกที่โน้มต่ำลงมาเสมอ ไม่ได้เป็นดอกที่ชูขึ้น คนโบราณจึงกำหนดให้เป็นดอกไม้สำหรับไหว้ครู ไม่ว่าจะเป็นครูดนตรี ครูมวย ครูสอนหนังสือ ก็ให้ใช้ดอกมะเขือนี้ เพื่อศิษย์จะได้อ่อนน้อมถ่อมตนพร้อมที่จะเรียนวิชาความรู้ต่างๆ นอกจากนี้มะเขือยังมีเมล็ดมาก ไปงอกงามได้ง่ายในทุกที่ เช่นเดียวกับหญ้าแพรก

หญ้าแพรก

หญ้าแพรก เป็น หญ้าที่เจริญงอกงาม แพร่กระจายพันธ์ ไปได้อย่างรวดเร็วมาก หญ้าแพรกดอกมะเขือจึงมีความหมายซ่อนเร้นอยู่ คนโบราณจึงถือเอาเป็นเคล็ดว่า ถ้าใช้หญ้าแพรกดอกมะเขือไหว้ครูแล้ว สติปัญญาของเด็กจะเจริญงอกงามเหมือนหญ้าแพรกและ ดอกมะเขือนั่นเอง

ดอกเข็ม

ดอกเข็ม เพราะ ดอกเข็มนั้นมีปลายแหลม สติปัญญาจะได้แหลมคมเหมือนดอกเข็ม และก็อาจเป็นได้ว่า เกสรดอกเข็มมีรสหวาน การใช้ดอกเข็มไหว้ครู วิชาความรู้จะให้ประโยชน์กับชีวิต ทำให้ชีวิตมีความสดชื่นเหมือนรสหวานของดอกเข็ม

ข้าวตอก

ข้าวตอก เป็น สัญลักษณ์ของความมีระเบียบวินัย แม้ว่าโดยธรรมชาติแล้วคนเรามักจะมีความซุกซน ความเกียจคร้าน เป็นสมบัติมากบ้าง น้อยบ้างก็ตาม ตาเมื่อเขามีความต้องการศึกษาหาความรู้ เขาก็ต้องรู้จักควบคุมตนเองให้อยู่ในกรอบ ในระเบียบหรือในกฎเกณฑ์ที่สถาบันได้กำหนดไว้ ใครก็ตามหากตามใจตนเอง ไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ บุคคลนั้นก็จะเป็นเหมือนข้าวเปลือกที่ถูกคั่ว แต่ไม่มีโอกาสได้เป็นข้าวตอก

อโรมาเธอราปี (Aroma Therapy)

AROMA THERAPY เป็นที่รู้จักกันมานานกว่า 6,000 ปี เริ่มต้นใช้ในอียิปต์ ชาวอียิปต์มักใช้การเผา ให้ได้มาซี่งกลิ่นหอมเพื่อบูชาเทพเจ้า เช่น กลิ่น FRANKINCENSE บูชาพระอาทิตย์ กลิ่น RA และ MYRRH บูชาพระจันทร์นอกจากนี้ชาวอียิปต์ยังใช้กลิ่นจากพืชธรรมชาติเพื่อความสดชื่น นิยมใช้กับน้ำมันนวดและผสมลงในอ่างแช่ ต่อมาชาวกรีกได้นำ AROMATIC OILS (น้ำมันหอมระเหย) เพื่อนำมาใช้บำบัดรักษา แพทย์กรีกผู้หนึ่งชื่อ PEDACIUS DIOSCORIDES ได้เขียนหนังสือเกี่ยวกับพืชสมุนไพรกับการแพทย์ไว้ เมื่อประมาณ 1,200 ปีมาแล้ว และหลักการนี้ก็ยังใช้อยู่จนปัจจุบันนี้
ชาวโรมันได้รับความรู้ทางการแพทย์ด้วยการใช้กลิ่นบำบัดรักษามาจาก ชาวกรีกและได้พัฒนาหลักความรู้นี้ผสมผสานกับศาสตร์อื่น เช่น การนวดและการอาบและถือได้ว่าชาวโรมันเป็นชาติแรกที่ทำการค้าเกี่ยวกับอโร มา-เธอราปี คือ ได้นำเข้าผลิตภัณฑ์อโรมา จากอินเดียตะวันออกและจากอาราเบีย
ความรู้เกี่ยวกับอโรมาออยล์และน้ำมันหอมแพร่กระจาย และได้รับความนิยมมากขึ้นหลังสงครามครูเสด ระหว่างปี ค.ศ.980-1037 นายแพทย์ อวิเซนา ชาวอาหรับได้คิดวิธีกลั่นน้ำมันหอมระเหยขึ้นเป็นครั้งแรก และการกลั่นนี้ก็ยังเป็นวิธีการสกัด กลิ่นหอมง่ายอีกวิธีหนึ่งจนถึงทุกวันนี้
มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ยืนยันว่า ในทวีปเอเชียชาวจีนรู้จักวีธีใช้พืชสมุนไพรและกลิ่นหอมมานานพอๆ กับชาวอียิปต์ ในหนังสือสมุนไพรเล่มหนึ่งของจีนมีการจดบันทึกไว้เมื่อ 2,700 ปีก่อนคริสตกาล ชาวจีนสามารถแยกสารหอมจากพืชธรรมชาติได้มากกว่า 300 ชนิด และเช่นเดียวกับชาวอียิปต์ ชาวจีนก็ใช้การเผาไม้หอม เพื่อบูชาเทพเจ้า
ในสังคมไทยหากจะกล่าวถึงพระมหากษัตริย์ผู้ทรงโปรดปรานเครื่อง สุคนธรสแล้ว คงจะต้องกล่าวถึงพระนามของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย สุนทรภู่ได้เขียนถึงพระองค์ไว้ในปราสาทภูเขาทองว่า
“เคยหมอบใกล้ได้กลิ่นสุคนธ์ตลบ
ละอองอบรสรื่นชื่นนาสา
สิ้นแผ่นดินสิ้นรสสุคนธรา
วาสนาเราก็สิ้นเหมือนกลิ่นสุคนธ์”

การนำกลิ่นหอมมาใช้กับการนวดนั้นมีมาแต่โบราณ ในการแพทย์สาขาอายุรเวทการแพทย์แผนโบราณของอินเดีย การนำกลิ่นหอมมาผสมกับน้ำมันหรือครีม-ไขมันสัตว์ต่างๆ จะเป็นที่รู้จักและใช้กันมานาน แต่การใช้อโรมา (กลิ่นหอม) ในสมัยโบราณก็ยังไม่มีการค้นคว้าอย่างจริงจังถึงคุณสมบัติ และสรรพคุณของสารหอมที่มาแต่ละชนิด ต่อมาจนกระทั่ง เมื่อต้นศตวรรษที่ 19 นี่เองที่ได้มีการบัญญัติศัพท์คำว่า AROMA THERAPY ขึ้นโดย RENE MAURICE GATTEFOSSE นักเคมีชาวฝรั่งเศส จากนั้นไม่นานชาวฝรั่งเศสคนหนึ่งชื่อ ALBERT COUVERUR ได้จัดพิมพ์ตำราเกี่ยวกับคุณประโยชน์ของน้ำมันหอมระเหยขึ้นจากแนวศึกษาของ GATEFOSSE นายแพทย์ชาวฝรั่งเศสชื่อ JEAN VALNET ได้ศึกษาค้นคว้าทดลองเพิ่มเติมเกี่ยวกับน้ำมันหอม ระเหย และนักเคมีชาวฝรั่งเศสชื่อ MARGARET MAURY ได้พัฒนาการใช้น้ำหอมระเหยกับการนวด และจากค้นคว้าของทั้ง 2 คนนี้ ทำให้ MICHELINE ARCIER เชื่อวิธีการของ MAURY และ VELNET เข้าด้วยกันจนทำให้ AROMA THERARY เป็นที่นิยมไปทั่วโลก

AROMA THERAPY อโรมา-เธอราปี คืออะไร ?

AROMA (อโรมา) แปลว่า กลิ่น กลิ่นหอม
THERAPY (เธอราปี) แปลว่า การบำบัดรักษา
AROMA THERAPY (อะโรมา-เธอราปี) หมายถึง การบำบัดรักษาโรคโดยใช้กลิ่นหอม
คำว่า AROMA THERAPY (อโรมา-เธอราปี) ถูกนำมาใช้เป็นครั้งแรกโดยนักเคมีชาวฝรั่งเศส ชื่อ RENE MAURICE GATTEFOSSE (เรเน มอริช กัดฟอส) เมื่อปี ค.ศ.1928 อโรมา-เธอราปี เป็นการนำประโยชน์ของน้ำมันหอมระเหย ทำให้ร่างกาย จิตใจอารมณ์เกิดความสมดุล หลักการนี้ถูกนำมาศึกษา โดยใช้หลักทางสรีรศาสตร์ที่มนุษย์สามารถสัมผัสรับกลิ่น (OLFACTORY NERVES) ซึ่งอยู่เหนือโพรงจมูก (NASAL CAVITY) เมื่อกลิ่นต่างๆ จากโมเลกุลของละอองเกสรดอกไม้ ผ่านกระเปาะรับกลิ่น (OLFACTORY BULBS) ที่ต่อกับลิมบิค ซีสเต็ม (LIMBIC SYSTEM) ซึ่งเป็นสมองส่วนควบคุมอารมณ์และความทรงจำ
โดยปกติแล้วระบบทางเดินหายใจเริ่มต้นจากการหายใจเข้า (INHALE) และหายใจออก (EXHALE) เพื่อให้เลือดดูดซับออกซิเจนที่สูดเข้าไป เปลี่ยนสภาพและสร้างเป็นพลังงานให้ร่างกาย หากอากาศที่ผ่านเข้าสู่สมองและปอดไม่บริสุทธิ์ เช่น อากาศเสียจากท่อไอเสีย จากบุหรี่ จากสารพิษ ฯลฯ ก็จะทำให้สารพิษที่ปนอยู่ในอากาศเสียนั้นตกค้างอยู่ในระบบทางเดินหายใจ และมีผลกระทบต่อระบบประสาท ลิมบิค ซีสเต็ม เป็นผลทำให้ อารมณ์ และความทรงจำแปรปรวนไปด้วย การทำงานของระบบทางเดินหายใจ และระบบรับกลิ่นทำงานเช่นเดียวกันทั้งกลิ่นดีและกลิ่นเสีย ดังนั้น กลิ่นหอมที่สูดดมเข้าร่างกายก็เช่นกัน และด้วยหลักการเดียวกันนี้เอง น้ำมันหอมระเหยที่ถูกสกัดจากพืชสมุนไพรหลากหลายชนิดจึงถูกค้นคว้าวิจัยเพื่อ นำมาบำบัดรักษาโรคต่างๆ เพราะคุณสมบัติที่แตกต่างกัน ของพืชสมุนไพรซึ่งผ่านการค้นคว้ามาแล้วจากหลายสถาบัน หลายอารยธรรม หลายช่วงกาลเวลาถูกสั่งสมให้คุณค่าของความรู้ ทางด้านน้ำมันหอมระเหยมีประสิทธิภาพสูงขึ้น
คุณสมบัติในน้ำมันระเหยนี้ สามารถนำมาใช้โดยการนวด ให้ซึมผ่านผิวหนัง บางชนิดก็เป็นสารสกัดที่กำจัดแบคทีเรียได้ บ้างก็ช่วยแก้ภูมิแพ้ ที่ผิวหนัง ช่วยกระชับผิวให้เต่งตึง ส่วนกลิ่นที่ได้จากสารสกัดสุมนไพรนี้จะช่วยกระตุ้นเปลี่ยนสภาพอารมณ์และจิต ใจเมื่อกลิ่นผ่านระบบประสาทลิมบิค ซีสเต็ม เช่น ช่วยให้สงบ ช่วยให้ผ่อนคลาย ช่วยให้กระปรี้กระเปร่า ช่วยคลายเครียด ช่วยลดความกระวนกระวายใจ ฯลฯ

น้ำมันหอมระเหย (ESSENTIAL OIL) คืออะไร ?

น้ำมันหอมระเหยเป็นผลิตผลจากการสกัดพืชสมุนไพรนานาชนิด ซึ่งอาจสกัดมาจากส่วนใดส่วนหนึ่งของพืชนั้นๆ เช่น สกัดมาจาก ผล ดอก ใบ เมล็ด เปลือก ก้าน ฯลฯ วิธีการสกัดที่นิยมใช้ในปัจจุบันคือ การกลั่นด้วยไอน้ำ และการใช้สารเคมีเป็นตัวทำลายหลังจากการสกัดน้ำมันหอมระเหยที่ได้จะถูกนำมา สังเคราะห์ เพื่อกลั่นแยกหาสารต่างๆ ที่มีกลิ่นหอม สารเหล่านี้เองที่จะถูกนำมาคัดเลือก ผสมผสานและสร้างขึ้นมาใหม่ๆ AROMA THERAPY กับการบำบัดรักษาโรคผ่านศาสตร์ของน้ำมันหอมระเหย-และการนวด
เนื่องด้วย อโรมา-เธอราปี เป็นการรวมศาสตร์และศิลป์ของกลิ่น-น้ำมันหอมระเหย-และการนวดเข้าด้วยกัน โดยอโรมา-เธอราปี เป็นการบำบัดโรคเพื่อจุดประสงค์ให้เกิดความสมดุล ของร่างกาย-จิตใจ-และอารมณ์ การนำเอาวิธีต่างๆ มาประยุกต์ใช้ ร่วมกับกลิ่นหอมที่อยู่ในสารหอม หรือน้ำมันหอมระเหย จึงเป็นอีกหลายทางเลือกที่มนุษย์ได้ศึกษาค้นคว้าเรื่องมาตลอดระยะเวลาหลาย พันปี จวบจนกระทั่งปัจจุบันนี้ 8 วิธีทางเลือกกับ AROMA THERAPY
1. การนวด (MASSAGE) เป็นวิธีที่ได้ผลดีที่สุดวิธีหนึ่ง เพราะด้วยสรรพคุณของน้ำมันหอมระเหยแต่ละชนิดจะสามารถช่วยบำบัดรักษาโรคได้ ด้วยยาจะซึมผ่านผิวหนังด้วยการนวด ส่วนกลิ่นหอมจากน้ำมันหอมระเหยจะช่วยให้ประสาทสัมผัสรับกลิ่นปรับอารมณ์ให้ รู้สึกสบายขึ้นไปพร้อม ๆ กัน ดังนั้นการใช้น้ำมันหอมระเหยที่มีคุณภาพดี และเลือกใช้ให้เหมาะกับความต้องการในการบำบัดจะทำให้การนวดมีประสิทธิภาพ ขึ้น
2. การอาบ (BATHS) เป็นวิธีง่าย ๆ ที่สามารถทำเองได้ คือ ผสมน้ำอุ่นในอ่างน้ำสำหรับลงแช่ได้แล้วหยดน้ำมันหอมระเหยประมาณ 6-8 หยด ลงในอ่างน้ำแล้วลงแช่ทั้งตัวสักประมาณ 20 นาที ไอระเหยจากอ่างน้ำอุ่นและการซึมทางผิวหนังด้วยการแช่จะช่วยให้รู้สึกสดชื่น ขึ้น
3. การประคบ (COMPRESSES) ใช้ผ้าขนหนูสะอาด ๆ ชุบน้ำที่ผสมน้ำมันหอมระเหยแล้วประคบตามบริเวณที่ต้องการ (ห้ามประคบบริเวณดวงตา) ส่วนผสมใช้น้ำมันหอมระเหย 2-3 หยด ในชามที่เตรียมน้ำอุ่นไว้แล้วก้มลงสูดดมสัก 2-3 นาที หยดน้ำมันหอมระเหย 1-2 หยด ในผ้าเช็ดหน้าแล้วสูดดม (ต้องหลีกเลี่ยงการสัมผัสน้ำมันหอมระเหยโดยตรง)
4. การสูดดม (INHALATIONS) เป็นการใช้กลิ่นหอมจากน้ำมันหอมระเหยอย่างเดียวไม่มีการสัมผัสทางผิวหนัง การสูดดมกลิ่นหอมทำได้ 2 วิธีคือ ใส่น้ำมันหอมระเหย 2-3 หยด ในชามที่เตรียมน้ำอุ่นไว้แล้วก้มลงสูดดมสัก 2-3 นาที หยดน้ำมันหอมระเหย 1-2 หยด ในผ้าเช็ดหน้าแล้วสูด ดม (ต้องหลีกเลี่ยงการสัมผัสน้ำมันหอมระเหยโดยตรง)
5. การสูดไอน้ำ (VAPORISATION) น้ำมันระเหยบางชนิด เป็นแอนดีเซปติก (ANTISEPTIC) ฆ่าเชื้อโรคได้เมื่อสูดดมไอน้ำจากน้ำมันหอมระเหยชนิดนี้เข้าไปจะช่วยกำจัด เชื้อโรคในระบบทางเดินหายใจได้วิธีทำหยดน้ำมันหอมระเหย 2-4 หยด ลงในชามใหญ่ ซึ่งผสมน้ำร้อนไว้แล้ว ใช้ผ้าคลุมและก้มหน้าลงเข้าไปอังไอน้ำ สูดไอน้ำร้อนผสมน้ำมันหอมระเหย พักเป็นระยะ ๆ วิธีนี้ไม่เหมาะกับผู้ที่มีปัญหาเรื่องผิวบาง และไม่เหมาะกับผู้ที่เป็นหอบหืด
6. การเผา-อบห้อง เป็นการอบห้องให้หอม หลักการอบห้องเพื่อฆ่าเชื้อโรคในโรงพยาบาลก็ใช้หลักการนี่เช่นกัน เพราะน้ำมันหอมระเหยที่มีฤทธิ์ ฆ่าเชื้อถูกอบอวลในห้องที่ปิดมิดชิดสามารถฆ่าเชื้อโรคได้ในกรณีที่ต้องการ ให้ห้องหอมตามกลิ่นที่ต้องการก็สามารถทำได้โดยหยดน้ำมัน หอมระเหย 3-4 หยด ในน้ำที่เตรียมใส่ในจานสำหรับเผา (AROMA JAR) แล้วจุดเทียนไว้ในห้อง ความร้อนจากเทียนจะทำให้กลิ่นหอมจากน้ำ ผสมน้ำมันหอมระเหยส่งกลิ่นอบอวลไปทั่วห้อง ควรเผา-อบไม่นานกว่า 10 นาทีต่อครั้ง
7. ใช้ผสมกับเครื่องหอมและน้ำมันหอม ส่วนมากเครื่องหอม เช่น บุหงา และน้ำหอมจะมีส่วนผสมจากกลิ่นไม้หอม หรือกลิ่นจากดอกไม้นานาพันธุ์ ผสมอยู่ การใช้เครื่องหอมและน้ำหอม ส่วนมากจะมีจุดประสงค์ให้เกิดความสบายใจ สะอาด สดชื่น และเป็นที่เราใจตราตรึงใจจากผู้คนที่อยู่ ใกล้
8. ใช้ผสมกับเครื่องสำอาง ครีม โลชั่น ความหลากหลายของคุณสมบัติเฉพาะจากน้ำมันหอมระเหยสามารถช่วยให้เครื่องสำอาง ครีมและโลชั่น ต่าง ๆ กลายเป็นผลิตภัณฑ์บำรุงผิวกาย ผิวหน้า เส้นผมและสารสกัดบางชนิดยังช่วยในการทำความสะอาดผิวหนัง สร้างความสมดุลให้ผิวอีก ด้วย แต่การเลือกใช้น้ำมันหอมระเหยแต่ละชนิด ต้องพิถีพิถัน และศึกษาให้รู้จริงว่า สารชนิดใด มีคุณสมบัติเช่นใด จึงจะก่อประโยชน์สูงสุด

วันพุธที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2553

แพทย์ทางเลือกคืออะไร


วันนี้ผมจะมาแนะนำเกี่ยวกับแพทย์ทางเลือกครับว่า คืออะไร

การแพทย์ทางเลือก (Alternative Medicine) คือ การรักษาพยาบาลอีกรูปแบบหนึ่ง แตกต่างไปจากการแพทย์แผนปัจจุบัน (Conventional Medicine) ซึ่งผู้ที่ให้การรักษา จะต้องสำเร็จการศึกษาวิชาชีพแพทย์ และได้รับใบประกอบโรคศิลปะ เป็นแพทย์ทั่วไป หรือแพทย์เฉพาะทาง ส่วนแพทย์ทางเลือก เป็นวิทยาการผสมผสานให้ใกล้เคียงกับการดำรงชีวิตของมนุษย์ มิใช่การแพทย์ที่ให้การรักษาโดยใช้ยาแผนปัจจุบัน ผู้ให้การรักษา ไม่จำเป็นต้องจบวุฒิทางการแพทย์แผนปัจจุบัน แต่เป็นผู้ที่ผ่านการอบรม และได้รับการฝึกฝนจนเป็นที่ชำนาญในแต่ละสาขา

ความหมายโดยกองแพทย์ทางเลือก
การแพทย์ทางเลือก(Aternative Medicine) หมายความว่า ศาสตร์เพื่อการวินิจฉัย รักษาและป้องกันโรค นอกเหนือจากศาสตร์ การแพทย์แผนปัจจุบัน การแพทย์แผนไทย และการแพทย์พื้นบ้านไทย

ความหมายของการแพทย์ทางเลือก
ความหมายในทางปฏิบัติ ที่เข้าใจง่ายๆหมายถึงการแพทย์ที่ยังไม่ได้สอนในโรงเรียนแพทย์ อะไรที่มีการเรียนการสอนในโรงเรียนแพทย์ ถือเป็นการแพทย์กระแสหลัก เป็นการแพทย์แบบแผน ถ้าอะไรที่ยังไม่ได้นำมาสอนแสดงว่าเป็นการแพทย์ทางเลือก

โดยสรุป การแพทย์ที่คนส่วนใหญ่ยอมรับคือการแพทย์แผนปัจจุบัน ส่วนการแพทย์แบบอื่น เช่น ภูมิปัญญาชาวบ้าน ท้องถิ่น การแพทย์ อินเดีย หรือการแพทย์จีนซึ่งไม่ได้เอามาสอน ในโรงเรียนแพทย์ จึงถือเป็นการแพทย์ทางเลือก เช่น การฝังเข็ม ยาสมุนไพร การนวด การจัดกระดูกสันหลัง การฝึกสมาธิ เป็นต้น

ความหมาย -โดย : นายแพทย์เทวัญ ธานีรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ทางเลือก
คำ ว่า “ทางเลือก” เทียบกับ “ทางหลัก” จะเข้าใจว่า เป็นอีกทางหนึ่ง ที่นำมาเป็นตัวเลือกในการตัดสินใจ ที่จะใช้ทางไหน ทางหลัก คือทางที่ คนส่วนใหญ่ใช้กัน ส่วน ทางเลือก เป็นทางใหม่ หรือทางอื่น ที่เป็นตัวที่จะเลือกใช้ หากคนยอมรับและใช้กันมากก็จะกายเป็นทางหลักไปอีกเช่นกัน
ความหมาย ของการแพทย์ทางเลือก นั้นขึ้นกับ เวลา และสถานที่ ในระยะเวลาแตกต่างกันความหมายก็แตกต่างกันเช่น ในประเทศไทยสมัยรัชกาลที่ 4 ในสมัยนั้น มีหมอฝรั่งนำการแพทย์แผนตะวันตกเข้ามาใช้ในสยามประเทศ เราเรียกการแพทย์แผนตะวันตกในตอนนั้นว่า การแพทย์ทางเลือก ในสถานที่ต่างกันจะมีความหมายแตกต่างกัน เช่น ในประเทศอินเดีย จะใช้การแพทย์แผนอินเดีย เป็นการแพทย์หลักของประเทศอินเดีย เช่น การแพทย์อายุรเวช ถือเป็นการแพทย์แผนปัจจุบัน ของอินเดีย ถูกต้องตามกฎหมาย เพราะประชาชนทั้งประเทศยอมรับที่จะใช้เป็นหลัก ประเทศจีน มีการใช้การแพทย์แผนโบราณของจีน เป็นหลัก ถือเป็นการแพทย์กระแสหลักของจีนเช่นเดียวกัน

*** ที่มา http://www.thailabonline.com/altermedicine.htm

วันอังคารที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2553

โรคไข้เลือดออกเดงกี (dengue hemorrhagic fever-DHF) (ต่อ)

อาการทางคลินิกของโรคไข้เลือดออกเดงกี

หลังจากได้รับเชื้อจากยุงประมาณ 5-8 วัน (ระยะฟักตัว) ผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการของโรค ซึ่งมีความรุนแรงแตกต่างกันได้ ตั้งแต่มีอาการคล้ายไข้เดงกี ไปจนถึงมีอาการรุนแรงมากจนถึงช็อกและถึงเสียชีวิตได้
โรคไข้เลือดออกเดงกีมีอาการสำคัญที่เป็นรูปแบบค่อนข้างเฉพาะ 4 ประการ เรียงตามลำดับการเกิดก่อนหลังดังนี้
1. ไข้สูงลอย 2 -7 วัน
2. มีอาการเลือดออก ส่วนใหญ่จะพบที่ผิวหนัง
3. มีตับโต กดเจ็บ
4. มีภาวะการไหลเวียนล้มเหลว/ภาวะช็อก

การดำเนินโรคของไข้เลือดออกเดงกี

แบ่งได้เป็น 3 ระยะไข้ ระยะวิกฤต/ช็อก และระยะฟื้นตัว

1. ระยะไข้

ทุกรายจะมีไข้สูงเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน ส่วนใหญ่ไข้จะสูงเกิน 38.5 องศาเซลเซียส ไข้อาจสูงถึง 40-41 องศาเซลเซียส ซึ่งบางรายอาจมีชักเกิดขึ้นโดยเฉพาะในเด็กที่เคยมีประวัติชักมาก่อน หรือในเด็กเล็กอายุน้อยกว่า 6 เดือน ผู้ป่วยมักจะมีหน้าแดง (flushed face) อาจตรวจพบคอแดง (infected pharynx) ได้ แต่ส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะไม่มีอาการน้ำมูกไหลหรืออาการไอ ซึ่งช่วยในการวินิจฉัยแยกโรคจากหัดในระยะแรกและโรคระบบทางเดินหายในได้ เด็กโตอาจบ่นปวดศีรษะ ปวดรอบกระบอกตา

ในระยะไข้นี้ อาการทางระบบทางเดินอาหารที่พบบ่อย คือ เบื่ออาหาร อาเจียน บางรายอาจมีอาการปวดท้องร่วมด้วย ซึ่งในระยะแรกจะปวดโดยทั่ว ๆ ไปและอาจปวดที่ชายโครงขวาในระยะที่มีตับโต

ส่วนใหญ่ไข้จะสูงลอยอยู่ 2-7 วัน ประมาณร้อยละ 15 อาจมีไข้สูงนานเกิน 7 วัน และบางรายไข้จะเป็นแบบ biphasic ได้ อาจพบมีผื่นแบบ erythema หรือ maculopapular ซึ่งมีลักษณะคล้ายผื่น rubella ได้

อาการเลือดออกที่พบบ่อยที่สุดคือที่ผิวหนัง โดยจะตรวจพบว่าเส้นเลือดเปราะ แตกง่ายการ ทำ tourniquet test ให้ผลบวกได้ตั้งแต่ 2-3 วันแรกของโรค ร่วมกับมีจุดเลือดออกเล็ก ๆ กระจายอยู่ตามแขน ขา ลำตัว รักแร้ อาจมีเลือดกำเดาหรือเลือดออกตามไรฟัน ในรายที่รุนแรงอาจมีอาเจียนและถ่ายอุจจาระเป็นเลือดซึ่งมักจะเป็นสีดำ (melena) อาการเลือดออกในทางเดินอาหารส่วนใหญ่จะพบร่วมกับภาวะช็อกที่เป็นอยู่นาน

ส่วนใหญ่จะคลำพบตับโตได้ประมาณวันที่ 3-4 นับแต่เริ่มป่วย ในระยะที่ยังมีไข้อยู่ตับจะนุ่มและกดเจ็บ

2. ระยะวิกฤต/ช็อก

เป็นระยะที่มีการรั่วของพลาสมาซึ่งจะพบทุกรายในผู้ป่วยไข้เลือดออกเดงกี โดยระยะรั่วจะมีประมาณ 24-48 ชั่วโมง ประมาณ 1 ใน 3 ของผู้ป่วยไข้เลือดออกเดงกีจะมีอาการรุนแรงมีภาวะการไหลเวียนล้มเหลวเกิดขึ้น เนื่องจากมีการรั่วของพลาสมาออกไปยังช่องปอด/ช่องท้องมาก เกิด hypovolemic shock ซึ่งส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นพร้อม ๆ กับที่มีไข้ลดลงอย่างรวดเร็ว เวลาที่เกิดช็อกจึงขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่มีไข้ อาจเกิดได้ตั้งแต่วันที่ 3 ของโรค (ถ้ามีไข้ 2 วัน) หรือเกิดวันที่ 8 ของโรค (ถ้ามีไข้ 7 วัน) ผู้ป่วยจะมีอาการเลวลง เริ่มมีอาการกระสับกระส่าย มือเท้าเย็น ชีพจรเบาเร็ว ความดันโลหิตเปลี่ยนแปลง ตรวจพบ pulse pressure แคบเท่ากับหรือน้อยกว่า 20 มม.ปรอท (ค่าปกติ 30-40 มม.ปรอท) โดยมีความดัน diastolic เพิ่มขึ้นเล็กน้อย (BP 110/90, 100/80 มม.ปรอท) ผู้ป่วยไข้เลือดออกเดงกีที่อยู่ในภาวะช็อกส่วนใหญ่จะมีภาวะรู้สติดี พูดรู้เรื่อง อาจบ่นกระหายน้ำ บางรายอาจมีอาการปวดท้องเกิดขึ้นอย่างกระทันหันก่อนเข้าสู่ภาวะช็อก ซึ่งบางครั้งอาจทำให้วินิจฉัยโรคผิดเป็นภาวะทางศัลยกรรม (acute abdomen) ภาวะช็อกที่เกิดขึ้นนี้จะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ถ้าไม่ได้รับการรักษาผู้ป่วยจะมีอาการเลวลง รอบปากเขียว ผิวสีม่วง ๆ ตัวเย็นชืด จับชีพจรและ/หรือวัดความดันไม่ได้ (profound shock)ภาวะรู้สติเปลี่ยนไปและจะเสียชีวิตภายใน12 - 24ชั่วโมงหลังเริ่มมีภาวะช็อก หากว่าผู้ป่วยได้รับการรักษาช็อกอย่างทันท่วงที และถูกต้องก่อนที่จะเข้าสู่ระยะ profound shock ส่วนใหญ่ก็จะฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว

ในรายที่ไม่รุนแรง เมื่อไข้ลดลง ผู้ป่วยอาจจะมีมือเท้าเย็นเล็กน้อยร่วมกับมีการเปลี่ยนแปลงของชีพจรและความ ดันเลือด ซึ่งเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงในระบบการไหลเวียนของเลือดเนื่องจากมีการรั่ว ของพลาสมาออกไปแต่รั่วไม่มากจึงไม่ทำให้เกิด ภาวะช็อก ผู้ป่วยเหล่านี้เมื่อให้การรักษาในช่วงระยะสั้น ๆ ก็จะดีขึ้นอย่างรวดเร็ว

การเกิดภาวะช็อกเกิดจากสาเหตุ 2 ประการ คือ
1. มีการรั่วของพลาสมาซึ่งนำไปสู่ภาวะ hypovolemic shock มีข้อบ่งชี้ดังนี้

  • ระดับ Hct เพิ่มขึ้นทันทีก่อนเกิดภาวะช็อก และยังคงอยู่ในระดับสูงในช่วงที่มีการรั่วของพลาสมา/ระยะช็อก
  • มีน้ำในช่องปอดและช่องท้อง การวัด pleural effusion index พบว่ามีความสัมพันธ์กับระดับความรุนแรงของโรค
  • ระดับโปรตีนและระดับอัลบูมินในเลือดลดต่ำลงในช่วงที่มีการรั่วของพลาสมา
  • central venous pressure ต่ำ
  • มีการตอบสนองต่อการรักษาด้วยการให้ IV fluid (crystalloid) และสาร colloid ชดเชย

    2. ระดับ peripheral resistance เพิ่มขึ้น เห็นได้จากระดับ pulse pressure แคบ โดยมี diastolic pressure สูงขึ้น เช่น 100/90, 110/100, 100/100 มม. ปรอท ในระยะที่มีการช็อก นอกจากนี้ยังมีการศึกษาทาง hemodynamic ที่สนับสนุนว่ามี peripheral resistance เพิ่มขึ้น

    3. ระยะฟื้นตัว ระยะฟื้นตัวของผู้ป่วยค่อนข้างเร็ว ในผู้ป่วยที่ไม่ช็อกเมื่อไข้ลดส่วนใหญ่ก็จะดีขึ้น ส่วนผู้ป่วยช็อกถึงแม้จะมีความรุนแรงแบบ profound shock ถ้าได้รับการรักษาอย่างถูกต้องก่อนที่จะเข้าสู่ระยะ irreversible จะฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว เมื่อการรั่วของพลาสมาหยุด Hct จะลงมาคงที่และชีพจรจะช้าลงและแรงขึ้น ความดันเลือดปกติ มี puse pressure กว้าง จำนวนปัสสาวะจะเพิ่มมากขึ้น (diuresis) ผู้ป่วยจะมีความอยากรับประทานอาหาร ระยะฟื้นตัวมีช่วงเวลาประมาณ 2 - 3 วัน ผู้ป่วยจะมีอาการดีขึ้นอย่างชัดเจน ถึงแม้จะยังตรวจพบน้ำในช่องปอด/ช่องท้อง ในระยะนี้อาจตรวจพบชีพจรช้า (bradycardia) อาจมี confluent petechial rash ที่มีลักษณะเฉพาะ คือ มีวงกลมเล็ก ๆ สีขาวของผิวหนังปกติท่ามกลางผื่นสีแดง ซึ่งพบใน DF ได้เช่นเดียวกัน
    ระยะทั้งหมดของไข้เลือดออกเดงกีที่ไม่มีภาวะแทรกซ้อนประมาณ 7-10 วัน
การเปลี่ยนแปลงทางห้องปฏิบัติการที่สำคัญ

1. ส่วนใหญ่เม็ดเลือดขาวจะมีค่าต่ำกว่าปกติ (น้อยกว่า 5,000 เซล/ลบ.มม.) แต่ในวันแรกอาจจะปกติหรือสูงเล็กน้อย โดยที่มี PMN ร้อยละ 70-80 เมื่อใกล้ไข้จะลง เม็ดเลือดขาวและ PMN จะลดลง พร้อม ๆ กับมี lymphocyte สูงขึ้น (โดยมี atypical lymphocyte ร้อยละ 15-35) บางครั้งเม็ดเลือดขาวจะมีค่าต่ำมากถึง 1,000-2,000 เซล/ลบ.มม. ซึ่งการตรวจเม็ดเลือดขาวจะช่วยวินิจฉัยแยกโรคติดเชื้อแบคทีเรีย และช่วยบอกระยะเวลาที่ไข้จะลดลงได้

2. เกล็ดเลือดจะลดลงอย่างรวดเร็วก่อนไข้ลดและก่อนระยะช็อก ส่วนใหญ่เกล็ดเลือดจะลดลงต่ำกว่า 100,000 เซล/ลบ.มม. และต่ำอยู่ประมาณ 3 - 5 วัน ในระยะที่มีเกล็ดเลือดต่ำจะมี Hct สูงด้วย

3. ระดับ Hct จะเพิ่มขึ้น (hemoconcentration) เป็นผลจากการเสียพลาสมา ระดับ Hct ที่สูงขึ้นกว่าปกติ เท่ากับหรือมากกว่าร้อยละ20(เช่นเพิ่มจาก35%เป็น42%)ถือเป็นเครื่องชี้บ่ง ว่ามีการรั่วของพลาสมาส่วนใหญ่แล้วจะเพิ่มขึ้น พร้อมกับเกล็ดเลือดลดลงหรือภายหลังเกล็ดเลือดลดลงการเปลี่ยนแปลงทั้ง2อย่าง นี้จะเกิดก่อนไข้ลดและก่อนภาวะช็อก จึงมีความสำคัญในการวินิจฉัยโรค

4. ในระยะที่ช็อกจะมีการเปลี่ยนแปลงใน coagulogram จะพบ partial thromboplastin time (PTT) และ thrombin time (TT) ผิดปกติได้ รายที่ช็อกนานอาจมี prothrombin time (PT) ผิดปกติได้ การเปลี่ยนแปลงนี้ แสดงว่ามีภาวะ disseminated intravascularclot (DIC)

5. การตรวจ chest x-ray จะพบน้ำในเยื่อหุ้มปอดเสมอ ส่วนใหญ่จะพบทางด้านขวาในรายที่รุนแรงมีภาวะช็อกอาจพบได้ทั้ง 2 ข้าง

6. การตรวจ liver function test (LFT) ในผู้ป่วย ส่วนใหญ่จะพบมี AST (SGOT) เพิ่มขึ้นเล็กน้อย ประมาณ 40% มี ALT (SGPT) เพิ่มขึ้นด้วย โดยระดับ AST มากกว่า ALT ประมาณ 2-3 เท่า

7. ระดับ erythrocyte sedimentation rate (ESR) เป็นปกติในระยะที่มีไข้ และลดต่ำลงในช่วงที่มีการรั่วของพลาสมา และระยะที่มีภาวะช็อก

การวินิจฉัยโรค

การวินิจฉัยได้อย่างถูกต้องในระยะแรกมีความสำคัญมากเพราะการรักษาอย่างถูก ต้องรวดเร็วเมื่อเริ่มมีการรั่วของพลาสมา จะช่วยลดความรุนแรงของโรคป้องกันภาวะช็อกและป้องกันการสูญเสียชีวิตได้จาก ลักษณะอาการทางคลินิกของโรคไข้เลือดออกเดงกี ที่มีรูปแบบที่ชัดเจน ทำให้สามารถวินิจฉัยโรคทางคลินิกได้อย่างถูกต้องก่อนที่จะเข้าสู่ภาวะช็อก โดยใช้อาการทางคลินิก 4 ประการ ร่วมกับการเปลี่ยนแปลงทางห้องปฏิบัติการ 2 ประการ คือ

อาการทางคลินิก

1. ไข้เกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน และสูงลอยประมาณ 2-7 วัน
2. อาการเลือดออก อย่างน้อยมี tourniquet test positive ร่วมกับอาการเลือดออกอื่น เช่น จุดเลือดออกที่ผิวหนัง เลือดกำเดา อาเจียน/ถ่ายเป็นเลือด
3. ตับโต
4. ภาวะช็อก

การเปลี่ยนแปลงทางห้องปฏิบัติการ

1. เกล็ดเลือด <100,000 เซล/ลบ.มม.
2. Hct เพิ่มขึ้นร้อยละ 20 หรือมากกว่า

จากประสบการณ์ของโรงพยาบาลเด็ก การวินิจฉัยโรคไข้เลือดออกเดงกีโดยใช้อาการทางคลินิกที่สำคัญ 4 อย่าง คือ ไข้ อาการเลือดออก ตับโต และ การมีภาวะไหลเวียนโลหิตล้มเหลวหรือช็อก ร่วมกับผลการตรวจเกล็ดเลือดและ Hct จะมีความแม่นยำเกินร้อยละ 95 ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2517 เป็นต้นมา องค์การอนามัยโลกได้กำหนด WHO criteria ในการวินิจฉัยโรคไข้เลือดออกเดงกี โดยใช้อาการทางคลินิก 4 อย่าง และ การตรวจทางห้องปฏิบัติการ 2 อย่าง ดังกล่าวข้างต้น ซึ่งในปัจจุบันได้ถือปฏิบัติกันทั่วไป

ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการทั้ง 2 อย่างนี้ มีความสำคัญมากเพราะจะบอกความเปลี่ยนแปลง ในระบบการแข็งตัวของเลือด (hemostasis) และการรั่วของพลาสมาเข้าไปในช่องปอด/ช่องท้อง (โดยไม่มี generalized edema ให้เห็น) จะช่วยเพิ่มความแม่นยำในการวินิจฉัยทางคลินิก และช่วยในการพยากรณ์โรค เพราะการเปลี่ยนแปลงของเกล็ดเลือดและระดับ Hct มีความสัมพันธ์กับความรุนแรงของโรค ทั้งบอกเวลาที่เริ่มมีการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะระดับ Hct ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้ที่ดีของการรั่วของพลาสมา และบอกถึงเวลาที่จะต้องเริ่มให้การรักษา คือการให้ IV fluid ชดเชยปริมาณพลาสมาที่รั่วออกไป

ปัญหาที่พบในการวินิจฉัยทางคลินิกคือ ในวันแรกของโรคที่ตรวจ พบเพียงไข้สูง อาเจียน เบื่ออาหาร tourniquet test ยังให้ผลลบอยู่ ทำให้วินิจฉัยยาก ต้องวินิจฉัยแยกจากโรคติดเชื้ออื่น ๆ การตรวจพบผู้ป่วยหน้าตาแดงโดยไม่มีอาการ ทางระบบทางเดินหายใจ จะช่วยให้นึกถึงการติดเชื้อเดงกี การตรวจเม็ดเลือดขาว ถ้าพบว่าปกติหรือต่ำ ซึ่งเป็นลักษณะที่พบบ่อย ในการติดเชื้อเดงกี จะช่วยในการวินิจฉัยแยกโรคออกจากการติดเชื้อแบคทีเรีย การติดตามดูการเปลี่ยนแปลง ถ้าพบจุด petechiae และ tourniquet test positive มีตับโต กดเจ็บ จะช่วยสนับสนุนว่าน่าจะเป็นไข้เลือดออกเดงกี สำหรับการติดตามดูเม็ดเลือดขาว ถ้าพบว่ามีจำนวนเม็ดเลือดขาวลดลงพร้อม ๆ กับมีจำนวน PMN ลดลง และมี lymphocyte เพิ่มขึ้น จะช่วยบอกว่าใกล้ระยะไข้ลด ซึ่งเป็นระยะวิกฤตของโรค จะต้องติดตามดูเกล็ดเลือด และ Hct อย่างใกล้ชิด หากเกล็ดเลือดลดลง และ Hct สูงขึ้น จะวินิจฉัยได้แน่นอนว่าเป็นไข้เลือดออกเดงกี ในผู้ป่วยที่มีภาวะซีดอยู่ก่อนแล้ว หรือมีการเสียเลือด หรือได้รับสารน้ำมาก่อน การเพิ่มของ Hct อาจเห็นไม่ชัดเจน การตรวจพบ pleural effusion/ascites จะสนับสนุนการวินิจฉัยโรค และช่วยในการวินิจฉัย แยกโรคไข้เลือดออกเดงกี ออกจากโรคไข้เดงกี และโรคอื่น ๆ ได้

ในผู้ป่วยไข้เลือดออกเดงกี ค่า ESR จะอยู่ในระดับปกติในระยะที่มีไข้ และจะลดต่ำลงจากปกติในช่วงที่มีการรั่วของพลาสมา และระยะที่มีภาวะช็อก ซึ่งจะช่วยในการวินิจฉัยแยกโรค DSS จาก septic shock ได้

ความรุนแรงของโรค

การจัดระดับความรุนแรงของเลือดออกเดงกี โดยพิจารณาว่ามีภาวะช็อกหรือไม่นั้น แบ่งออกได้เป็น 4 ระดับ (grade) คือ ในรายที่ไม่มีอาการช็อกจัดเป็น grade I และ grade II ซึ่งจะแยกกันโดยที่ grade II มี spontaneous hemorrhage ถ้ามีภาวะช็อก ก็จัดอยู่ใน grade III และGrade IV โดยรายที่เป็น grade IV เป็นผู้ป่วยที่มี profound shock วัดความดันโลหิตและ / หรือ จับชีพจรไม่ได้

การดูแลรักษา

ถึงแม้ขณะนี้ยังไม่มียาต้านไวรัสเดงกีใช้ก็ตาม การรักษาแบบตามอาการและประคับประคอง โดยการแก้ไขชดเชย การรั่วของพลาสมาและ / หรือ เลือดที่ออก สามารถลดความรุนแรงของโรคและป้องกันการเสียชีวิตได้ทั้งนี้แพทย์ผู้รักษา จะต้องเข้าใจธรรมชาติของโรคสามารถให้การวินิจฉัยได้เร็วและถูกต้อง ให้การดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด มี nursing cares ที่ดีตลอดระยะเวลาวิกฤตซึ่งเป็นช่วงเวลาประมาณ 24-48 ชั่วโมงที่มีการรั่วของพลาสมา
  • หลักการสำคัญคือ ให้การวินิจฉัยได้เร็วก่อนที่จะเข้าสู่ระยะวิกฤต ติดตามดูอาการและการเปลี่ยนแปลงอย่างใกล้ชิด โดยดูระดับเกล็ดเลือดที่ลดลงและระดับ Hct ที่เพิ่มขึ้น ที่จะช่วยให้วินิจฉัยโรคได้ถูกต้อง
  • ไม่แนะนำให้ I. V. fluid ตั้งแต่วันแรก ๆ ของโรคก่อนมีการรั่วของพลาสมา
  • ให้สารน้ำชดเชยเมื่อมีการรั่วของพลาสมาด้วยความความระมัดระวัง ให้เพียงเท่าที่จะเป็นในการรักษาระดับการไหลเวียน ในช่วงที่มีการรั่วเท่านั้น
  • นึกถึงเสมอว่าอาจจะมีเลือดออกภายใน
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาที่ไม่จำเป็นทุกชนิด รวมทั้ง antibiotics
  • หลีกเลี่ยง invasive procedure (ที่ไม่จำเป็น)
***** จากข้อมูลที่ได้้ให้ความรู้ไปน่าจะเป็นประโยชน์และมีความเข้าใจเกี่ยวกับโรคไข้เลือดออกมากยิ่งขึ้นนะครับ

วันจันทร์ที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2553

โรคไข้เลือดออกเดงกี (dengue hemorrhagic fever-DHF)


ช่วงนี้เข้าหน้าฝนแล้ว จะมีโรคชนิดหนึ่งซึ่งระบาดหนักในหน้าฝนของทุกๆปี ทำให้ประชาชนไม่สบายเป็นจำนวนมาก โรคนั้นก็คือ โรคไข้เลือดออก

โรคไข้เลือดออกเดงกี (dengue hemorrhagic fever-DHF) นับเป็นโรคติดเชื้อไวรัสเดงกีที่พบใหม่ (emerging disease) เมื่อ45ปีที่แล้ว โดยพบระบาดเป็นครั้งแรกที่ประเทศฟิลลิปปินส์ เมื่อ พ.ศ. 2497 และต่อมาพบระบาดในประเทศไทยเมื่อ พ.ศ. 2501 และหลังจากนั้นได้ระบาดไปยังประเทศต่าง ๆ ที่อยู่ในเขตร้อนของทวีปเอเชีย โรคไข้เลือดออกเดงกีส่วนใหญ่เป็นในเด็ก อายุน้อยกว่า 15 ปี และอาจมีความรุนแรง มีภาวะช็อกเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เสียชีวิตได้ โรคนี้จึงมีความแตกต่างกับโรคไข้เดงกี ( dengue fever - DF) ซึ่งเป็นโรคติดเชื้อไวรัสที่รู้จักกันมานานเกิน 200 ปี ว่าเป็นโรคที่ไม่รุนแรง โดยทั่วไปจะไม่ทำให้ถึงเสียชีวิต และผู้ป่วย Classical dengue fever ที่มีอาการปวดกล้ามเนื้อและปวดกระดูกอย่างรุนแรง (break bone fever) นั้นส่วนใหญ่มักจะเป็นในผู้ใหญ่

ไวรัสเดงกี เป็น single stranded RNA ไวรัส อยู่ใน Family Flaviviridae มี 4 serotypes (DEN1, DEN2, DEN3, DEN4) ซึ่งมี antigen ของกลุ่มบางชนิดร่วมกันจึงทำให้มี cross reaction กล่าวคือ เมื่อมีการติดเชื้อชนิดใดชนิดหนึ่งแล้วจะมีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสชนิดนั้นอย่างถาวรตลอดชีวิต แต่จะมีภูมิคุ้มกันต่อไวรัสเดงกีอีก 3 ชนิดในช่วงระยะสั้น ๆ ประมาณ 6-12 เดือน (หรืออาจสั้นกว่านี้) ดังนั้นผู้ที่อยู่ในพื้นที่ที่มีไวรัสเดงกีชุกชุมอาจมีการติดเชื้อ 3 หรือ 4 ครั้ง ได้ตามทฤษฎี ไวรัสทั้ง 4 serotypes สามารถทำให้เกิด DF หรือ DHF ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่น ๆ อีกหลายประการ ที่สำคัญคืออายุและภูมิคุ้มกันของผู้ป่วย มีการศึกษาทางระบาดวิทยาที่แสดงว่าการติดเชื้อซ้ำ (secondary infection) ด้วยชนิดที่ต่างจากการติดเชื้อครั้งแรก (primary infection) เป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ เพราะส่วนใหญ่ประมาณร้อยละ 80-90 ของผู้ป่วยที่เป็น DHF มีการติดเชื้อซ้ำ ส่วนผู้ที่เป็น DHF เมื่อมีการติดเชื้อครั้งแรกนั้นมักเป็นในเด็กอายุต่ำกว่า 1 ปี ชนิดของไวรัสเดงกีที่เป็นครั้งที่ 1 และ 2 (sequence of infections) อาจมีความสำคัญเช่นเดียวกัน มีการศึกษาทางระบาดวิทยาในคิวบาและในประเทศไทยที่แสดงว่าการติดเชื้อครั้งที่ 2 ด้วย DEN2 มีโอกาสเสี่ยงสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเป็นการตามหลังการติดเชื้อครั้งแรกด้วย DEN1 ในระยะแรก ๆ ในประเทศไทยจะแยกเชื้อ DEN2 จากผู้ป่วย DHF ได้ในอัตราที่สูงมากกว่าชนิดอื่น แต่ตั้งแต่ พ.ศ. 2526 เป็นต้นมาแยกเชื้อจากผู้ป่วยได้ DEN3 มากกว่าชนิดอื่น ๆ การศึกษาทางด้าน molecular virology พบว่า มีความแตกต่างใน genotype/strain ที่แยกได้จากที่ต่าง ๆ โดยเฉพาะมีการศึกษาเกี่ยวกับ DEN2 พบว่า DEN2 genotype จากประเทศไทย/เวียตนาม มีศักยภาพสูงที่จะทำให้เกิดเป็น DHF เมื่อเป็นการติดเชื้อซ้ำ

การแพร่กระจายของไวรัสเดงกี
เชื้อไวรัสเดงกีแพร่จากคนหนึ่งไปอีกคนหนึ่งได้โดยมียุงลายเป็นตัวนำที่สำคัญ ถึงแม้จะมียุงลายหลายชนิดที่สามารถแพร่เชื้อได้ แต่ที่มีความสำคัญทางด้านระบาดวิทยาของโรค DF/DHF คือ Aedes aegypti ซึ่งเป็นยุงที่อยู่ใกล้ชิดคนมาก (highly anthropophilic) โดยยุงลายตัวเมียจะดูดเลือดคนที่มีเชื้อไวรัสเดงกีอยู่ในกระแสเลือด (ในช่วงที่มีไข้สูง) เข้าไป เชื้อไวรัสจะเพิ่มจำนวนในตัวยุง (external incubation period ประมาณ 8-10 วัน) โดยไวรัสเดงกีจะเข้าไปสู่กระเพาะ และเข้าไปเพิ่มจำนวนในเซลผนังของกระเพาะ หลังจากนั้นจะเข้าสู่ต่อมน้ำลาย เตรียมพร้อมที่จะปล่อยเชื้อไวรัสเดงกีให้กับคนที่ถูกกัดครั้งต่อไปได้ตลอดอายุของยุงตัวเมียซึ่งอยู่ได้นาน 30-45 วัน คนที่ไม่มีภูมิคุ้มกันนับว่าเป็น amplifying host ที่สำคัญของไวรัสเดงกี การแพร่เชื้อจะต่อเนื่องกันเป็นลูกโซ่ถ้ามียุง หรือคนที่มีเชื้อไวรัสเดงกีอยู่ในชุกชุมที่มีคนอยู่หนาแน่น ยุงลายมีขนาดค่อนข้างเล็ก สีขาวสลับดำ พบอยู่ทั่วไปในเขตร้อน แหล่งเพาะพันธุ์ คือ ภาชนะขังน้ำที่คนทำขึ้นและมีน้ำขังไว้เกิน 7 วัน โดยเป็นน้ำที่ใสและนิ่ง ยุงลายตัวเมียหลังดูดเลือดคนแล้วจะวางไข่ตามผิวในของภาชนะเหนือระดับน้ำเล็กน้อย อาศัยความชื้นจากน้ำที่ขังอยู่และความมืด ไข่จะฟักตัวเป็นลูกน้ำภายใน 2 วัน จากลูกน้ำ (larvae) เป็นตัวโม่ง 6-8 วัน จากตัวโม่ง (pupa) กินเวลา 1-2 วัน ก็จะเป็นยุงตัวเต็มวัยที่พร้อมจะออกไปหาอาหารและผสมพันธุ์ โดยทั่วไปยุงลายจะออกหากินกัดคนในเวลากลางวัน ส่วนใหญ่จะพบอยู่ภายในบ้านและรอบ ๆ บ้าน มีระยะบินไม่เกิน 50 เมตร จะพบยุงลายขุกชุมมากในฤดูฝน ไข่ยุงลายที่ติดอยู่กับขอบผิวในภาชนะมีความทนต่อความแห้งแล้งเป็นเวลานานถึง 1 ปี เมื่อเข้าฤดูฝนมีความชื้นและอุณหภูมิที่เหมาะสมก็จะฟักตัวเป็นยุงได้ในระยะเวลา 9-12 วัน

การติดเชื้อไวรัสเดงกี
การติดเชื้อไวรัสเดงกีในเด็กส่วนใหญ่จะไม่มีอาการโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กเล็กเมื่อมีการติดเชื้อครั้งแรกมัก จะไม่มีอาการหรืออาการไม่รุนแรงองค์การอนามัยโลกได้จำแนกกลุ่มอาการโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเดงกี ตามลักษณะอาการทางคลินิกดังต่อไปนี้
1. Undifferentiate fever (UF) หรือกลุ่มอาการไวรัส มักพบในทารกหรือเด็กเล็ก จะปรากฏเพียงอาการไข้ 2-3 วัน บางครั้งอาจมีผื่นแบบ maculopapular rash มีอาการคล้ายคลึงกับโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสอื่น ๆ ซึ่งไม่สามารถวินิจฉัยได้จากอาการทางคลินิก
2. ไข้เดงกี มักเกิดกับเด็กโตหรือผู้ใหญ่ อาจมีอาการไม่รุนแรง คือมีเพียงอาการไข้ร่วมกับปวดศีรษะ เมื่อยตัว หรืออาจเกิดอาการแบบ classical DF คือ มีไข้สูงกระทันหัน ปวดศีรษะ ปวดรอบกระบอกตา ปวดกล้ามเนื้อ ปวดกระดูก (breakbone fever) และมีผื่น บางรายอาจมีจุดเลือดออกที่ผิวหนัง ตรวจพบ tourniquet test positive ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีเม็ดเลือดขาวต่ำ รวมทั้งบางรายอาจมีเกล็ดเลือดต่ำได้ ในผู้ใหญ่เมื่อหายจากโรคแล้วจะมีอาการอ่อนเพลียอยู่นาน โดยทั่วไปแล้วไม่สามารถวินิจฉัยจากอาการทางคลินิกได้แน่นอน ต้องอาศัยการตรวจทานน้ำเหลือง/แยกเชื้อไวรัส
3. ไข้เลือดออกเดงกี มีอาการทางคลินิกเป็นรูปแบบที่ค่อนข้างชัดเจน คือมีไข้สูงลอยร่วมกับอาการเลือดออก ตับโต และ มีภาวะช็อกในรายที่รุนแรง ในระยะมีไข้จะมีอาการต่าง ๆ คล้าย DFแต่จะมีลักษณะของโรคคือมีเกล็ดเลือดต่ำ และมีการรั่วของพลาสมา ซึ่งถ้าพลาสมารั่วออกไปมากผู้ป่วยจะมีภาวะช็อกเกิดขึ้นที่เรียกว่า dengue shock syndrome (DSS) การรั่วของพลาสมาซึ่งถือเป็นลักษณะที่เป็นเอกลักษณ์ของโรคไข้เลือดออกเดงกี สามารถตรวจพบได้จากการที่มีระดับ Hct สูงขึ้น มีน้ำในเยื่อหุ้มช่องปอดและช่องท้อง

******* วันนี้ขอให้ข้อมูลแค่นี้ก่อนครับ พรุ่งนี้ผมจะมาให้ข้อมูลต่อเกี่ยวกับอาการ การตรวจวินิจฉัยและการให้การรักษาต่อไป

การตรวจสุขภาพประจำปี (ต่อ)


การตรวจสุขภาพจะมีการตรวจอะไรบ้างเรามาดูกันครับ

การตรวจเลือด (Blood Analysis)
1. ตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด(CBC) ทำให้ทราบปริมาณของเม็ดเลือดขาว เม็ดเลือดเเดงเเละเกร็ดเลือดได้ ทำให้ทราบว่ามีโรคซีด โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว หรือเกร็ดเลือดผิดปกติหรือไม่
2. ตรวจหาหมู่เลือด(ABO Blood Group) ก่อน การให้เลือดทุกครั้ง ต้องมั่นใจว่าหมู่เลือดผู้ให้เเละผู้รับตรงกัน การทราบหมู่เลือดมีประโยชน์หากมีกรณีฉุกเฉิน ต้องได้เลือดเป็นการด่วน
3. ตรวจระดับน้ำตาลในเลือด( FBS) ทำ ให้ทราบว่ามีเบาหวาน หรือเริ่มมีน้ำตาลในเลือดสูงก่อนการเป็นเบาหวานเเล้วหรือยัง ซึ่งทุกคนควรตรวจหาเบาหวานเมื่ออายุ 45 ปีขึ้นไป หรือถ้ามีปัจจัยเสี่ยงเช่น อ้วน มีญาติสายตรงเป็นเบาหวาน มีประวัติเป็นเบาหวานในขณะตั้งครรภ์ มีไขมันในเลือดสูง ควรตรวจระดับน้ำตาลในเลือดที่อายุน้อยกว่า 45 ปี
4. ตรวจการทำงานของตับ(AST,ALT,ALP)เพื่อดูความผิดปกติของตับเเละทางเดินน้ำดี เช่น ถ้ามีเอมไซม์ตับสูงเเสดงว่ามีตับอักเสบ เป็นต้น
5. ตรวจการทำงานของไต(BUN,Cr) เพื่อดูว่ามีโรคไตหรือไม่ ถ้าค่าสูงเเสดงว่าไตทำงานผิดปกติ
6. ตรวจโรคเก๊าท์(uric acid)หาก มีกรดยูริคในเลือดสูง ต้องระวังโรคเก๊าท์ ซึ่งเป็นโรคที่มีอาการปวดข้อ จากการที่มีผลึกยูเรตในข้อเเละทำให้เกิดการอักเสบตามมา ผู้ที่มีกรดยูริค ในเลือดสูง ควรต้องหลีกเลี่ยงการดื่มอัลกอฮอล์ งดรับประทานสัตว์ปีกเเละหลีกเลี่ยงผักบางชนิด เช่นกระถิน สะตอ ชะอม เป็นต้น
7. ตรวจไขมันคลอเลสเตอรอล(Cholesterol) ถ้าสูงจะเป็นสาเหตุของโรคเส้นเลือดเเดงตีบ เช่น เส้นเลือดหัวใจตีบ เส้นเลือดสมองตีบ เป็นต้น การทราบว่ามีไขมันในเลือดสูง ทำให้ผู้ป่วยปรับเปลี่ยนอาหาร เเละออกกำลังกาย เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงจากโรคข้างต้น
8. ตรวจไขมันไตรกลีเซอไรด์(Triglyceride) ถ้าสูงมากจะเป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคเส้นเลือดเเดงตีบเช่นกัน เเละอาจเป็นสาเหตุของโรคตับอ่อนอักเสบได้
9. ตรวจหาไขมันที่ดี(HDL) เป็น ไขมันชนิดที่ดีมีประโยชน์ ช่วยพาไขมันที่อยู่ตามผนังเส้นเลือดเข้าสู่ตับ ไขมันชนิดนี้ถ้าสูงจะลดความเสี่ยงที่มีเส้นเลือดเเดงตีบลงได้
10. ตรวจหาไขมันที่ชนิดไม่ดี(LDL) เป็นไขมันที่ก่อให้เกิดโรคเส้นเลือดเเดงตีบ
11. ตรวจไวรัสตับอักเสบบี(Hepatitis B Virus) ทำให้ทราบว่าติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีหรือไม่ ซึ่งเป็นสาเหตุที่สำคัญของมะเร็งตับ ถ้ายังไม่พบเชื้อเเละไม่มีภูมิต้านทาน ควรได้รับการฉีดวัคซีนป้องกัน ถ้าติดเชื้อเเล้วเเละมีภาวะตับอักเสบเรื้อรังควรปรึกษาเเพทย์เพื่อรับยาต้าน ไวรัส ซึ่งจะลดภาวะตับอักเสบ เเละลดความเสี่ยงโรคมะเร็งตับ
12.ตรวจไวรัสตับอักเสบซี(Hepatitis C Virus) ทำ ให้ทราบว่าติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีหรือไม่ ซึ่งเป็นอีกสาเหตุหนึ่งของมะเร็งตับ โรคไวรัสตับอักเสบซีนี้สามารถหายขาดได้ โดยการรักษาที่ถูกต้องเหมาะสม
13. ตรวจกามโรค(VDRL) หาเชื้อซิฟิลิส เพื่อป้องกันการติดต่อไปสู่บุตร สามีเเละภรรยา
14. ตรวจมะเร็งตับ(AFP) เป็นการตรวจหาสารที่บ่งชี้ว่ามีมะเร็งตับหรือไม่ ซึ่งข้อมูลจะครบถ้วนเมื่อตรวจอัลตราซาวน์ตับร่วมด้วย
15. ตรวจมะเร็งลำไส่ใหญ่(CEA) เป็นการตรวจหาสารที่บ่งชี้ว่ามีมะเร็งลำไส้ใหญ่หรือไม่ ซึ่งข้อมูลจะครบถ้วน เมื่อตรวจเอ็กซ์เรย์สำไส้(Barium enema) หรือส่องกล้องลำไส้(Colonoscopy) ร่วมด้วยร่วมด้วย
16. ตรวจมะเร็งต่อมลูกหมากในเพศชาย(PSA) เป็น การตรวจหาสารที่บ่งชี้ว่ามีความผิดปกติของต่อมลูกหมากหรือไม่ ถ้าค่าสูงเล็กน้อยอาจเป็นโรคต่อมลูกหมากโต เเต่ถ้าค่าสูงมาก ต้องระวังมะเร็งต่อมลูกหมาก

ตรวจปัสสาวะ(UA) เพื่อตรวจหาความผิดปกติทางระบบปัสสาวะ เช่น โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ โรคนิ่ว เเละโรคไตอื่นๆ

การตรวจอุจจาระ (Stool Examination) ตรวจหาพยาธิชนิดต่างๆ เลือดออกในทางเดินอาหาร การติดเชื้อในลำไส้

การตรวจด้วยเครื่องมือพิเศษ (Special Examination)

1. เอ็กซ์เรย์ปอด(Chest x-ray) เป็นการตรวจเพื่อวินิจฉัยโรคปอดเเละโรคหัวใจ
2. ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ(EKG) เป็นการตรวจดูความผิดปกติของจังหวะการเต้นของหัวใจ หัวใจโต เส้นเลือดหัวใจตีบ ฯลฯ ซึ่งเป็นการตรวจที่ง่าย สะดวก ไม่เจ็บปวด
3. ตรวจสมรรถภาพของหัวใจ(EST:exercise stress test) เป็นการตรวจโดยการเดินบนสายพานเลื่อนที่มีคอมพิวเตอร์ควบคุม ซึ่งจะตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ เเละวัดความดันโลหิตไปพร้อมกัน เพื่อวินิจฉัยโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ หัวใจเต้นผิดจังหวะ
4. ตรวจอัลตราซาวด์ช่องท้อง( Ultrasound Abdomen)เป็น การตรวจอวัยวะในช่องท้องโดยการใช้หลักการสะท้อนของคลื่นเสียง เเสดงเป็นภาพอวัยวะช่องท้องให้เห็นบนจอภาพ ทำให้เห็นความผิดปกติของตับ ม้าม ตับอ่อน ไต ต่อมหมวกไต มดลูก รังไข่ เเละอื่นๆ เเต่ไม่สามารถบอกความผิดปกติของอวัยวะที่เป็นกระเพาะ ลำไส้ได้
5. เอ็กซ์เรย์ลำไส้(Barium Enema) เป็นการเอ็กซเรย์โดยใช้การสวนเเป้ง เพื่อตรวจหาความผิดปกติของลำไส้ใหญ๋
6. ตรวจมะเร็งปากมดลูกด้วยThin prep เป็น วิธีการใหม่ล่าสุดที่นำมาใช้ในการตรวจหาเซลล์ผิดปกติจากปากมดลูกและในช่อง คลอด ข้อมูลการศึกษาวิจัยจากสถาบันทั่วโลกพบว่า การตรวจด้วยวิธีใหม่นี้ ให้ผลดีกว่าการตรวจแบบเก่าประมาณร้อยละ 65 ในสหรัฐอเมริกาและหลายๆ ประเทศ ได้มีการเปลี่ยนแปลงโดยนำตินเพร็พ มาตรวจหาเซลล์มะเร็งจากปากมดลูก แทนวิธีการตรวจแป๊ปเสมียร์แบบเก่า เนื่องจากตินเพร็พ (ThinPrep) ใช้อุปกรณ์เฉพาะ เก็บตัวอย่าง ป้ายนำเยื่อบุผิวจากบริเวณปากมดลูก และนำเซลล์ตัวอย่างที่เก็บมาได้ทั้งหมดใส่ลงในขวดน้ำยา เพื่อรักษาเซลล์ ซึ่งจะทำให้ได้เซลล์ตัวอย่างครบถ้วน แล้วนำเข้าเครื่องอัตโนมัติในการเตรียมเซลล์บนสไลด์แก้ว จะมีการกำจัดสิ่งปนเปื้อนของมูก เซลล์เม็ดเลือด หรือลดการซ้อนทับกันของเซลล์ที่หนาแน่นเกินไป ทำให้เพิ่มโอกาสในการตรวจพบความผิดปกติที่มีอยู่ได้ดียิ่งขึ้น
7. ตรวจมะเร็งเต้านมด้วยmammogram เป็นการตรวจหาก้อนในเต้านมโดยใช้เครื่องมือพิเศษ ควรตรวจในสุภาพสตรีที่อายุมากกว่า 35 ปีขึ้นไป
8. ตรวจความหนาเเน่นของมวลกระดูก(Bone Mineral Density) เพื่อตรวจหาความเสี่ยงของกระดูกหักเเละเป็นเครื่องมือที่ใช้วินิจฉัยโรคกระดูกพรุน
9. การตรวจส่องกล้องกระเพาะ(Gastroscopy) เพื่อหาความผิดปกติในกระเพาะอาหาร เช่น แผลในกระเพาะอาหาร มะเร็งในกระเพาะอาหาร เป็นต้น
10. การตรวจส่องกล้องลำไส้(Colonoscopy) เพื่อหาความผิดปกติในลำไส้ใหญ่ เช่น เนื้องอกในลำไส่ใหญ่ เลือดออกในลำไส้ใหญ่ เป็นต้น
11. การถ่ายภาพรังสีโดยอาศัยคอมพิวเตอร์ หรือ CT Scan(Computed tomography) เป็น การตรวจทางการแพทย์ด้วยคลื่นเอกซ์เรย์ สามารถสร้างภาพตามแนวตัดและแนวขวาง 3 มิติของอวัยวะที่ต้องการตรวจวินิจฉัยทางการแพทย์ โดยใช้คอมพิวเตอร์ความละเอียดสูงในการแปลงสัญญานภาพ คุณภาพของภาพจะชัดเจนกว่าการตรวจอัลตร้าซาวน์
12.การสร้างภาพด้วยเรโซแนนซ์แม่เหล็ก หรือ MRI (Magnetic Rasonance Imaging) คือการตรวจร่างกายโดยเครื่องตรวจที่ใฃ้คลื่นสนามแม่เหล็กความเข้มสูงและ คลื่นความถี่ในย่านความถี่วิทยุ ในการสร้างภาพเหมือนจริงของอวัยวะต่างๆของร่างกายด้วยคอมพิวเตอร์รายละเอียด และความคมชัดสูง เป็นภาพตามระนาบได้ทั้งแนวขวาง แนวยาวและแนวเฉียง เป็น 3 มิติ ภาพที่ได้จึงจะชัดเจนกว่า การตรวจเอกซ์เรย์คอมพิวเตอร์ แบบ CT Scan ทำให้แพทย์สามารถตรวจวินิจฉัยความผิดปกติในร่างกายได้อย่างแม่นยำ การตรวจทางการแพทย์ด้วยเครื่องมือชนิดนี้ไม่ก่อให้เกิดความเจ็บปวดใดๆ แก่ร่างกาย และไม่มีอันตรายจากรังสีตกค้าง แต่อาจมีผลทางความรู้สึกต่อผู้กลัวที่แคบ

**** ทั้งหมดนี้ก็เป็นลักษณะของการตรวจสุขภาพเบื้องต้นนะครับ เพื่อหาความผิดปกติต่างๆของร่างกายก่อนการเกิดโรค เพื่อเป็นการป้องกันอีกทางหนึ่งครับ

วันอาทิตย์ที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2553

การตรวจสุขภาพประจำปี


ปัจจุบันสังคมไทยได้มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา การใช้ชีวิตของคนไทยจึงเปลี่ยนไปจากการร ใช้แรงงานทำงานมาเป็นการใช้สมองนั่งโต๊ะทำงาน และการใช้ชีวิตอย่างเร่งรีบทำให้เกิดความเครียด ขาดการออกกำลังกาย ขาดการรับประทานอาหารที่มีคุณภาพ ขาดความสนใจต่อสุขภาพ ทำให้เกิดโรคต่างๆ ซึ่งเกิดจากการไม่ดูแลตัวเองให้ดีเช่น โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ ความดันโลหิตสูง โรคมะเร็งซึ่งโรคเหล่านี้สามารถป้องกันหรือลดอุบัติการณ์ได้โดยการที่เราใส่ ใจดูแลตัวเอง การสืบค้นความผิดปกติของร่างกายตั้งแต่เริ่มต้น เพื่อรับการรักษา อย่างทันท่วงที ก่อนที่รอยโรคต่างๆ จะพัฒนาไปจนเกินแก้ไขเป็นสิ่งสำคัญ ดังนั้น การตรวจสุขภาพประจำปีจึงมีความจำเป็น เพื่อให้คุณมีสุขภาพดี มีชีวิตยืนยาว และเป็นการส่งเสริมคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน

ควรจะตรวจสุขภาพตั้งแต่อายุเท่าใด
ในความเป็นจริงเราเริ่มต้นตรวจสุขภาพตั้งแต่แรกเกิด เลย จะเห็นได้ว่าหลังจากคลอดคุณหมอจะนัดพาเด็กไปตรวจสุขภาพชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง วัดรอบศีรษะและฉีดวัคซีนป้องกันโรค แต่สำหรับผู้ใหญ่ที่แข็งแรง ไม่มีโรคทางกรรมพันธุ์ในครอบครัวก็อาจจะจะเริ่มต้นตรวจเมื่ออายุ 35 ปีแต่หากคุณเป็นคนอ้วน มีประวัติเบาหวานในครอบครัว ประวัติโรคหลอดเลือดหัวใจของญาติสายตรง ไขมันสูงในครอบครัวหรือเจ็บป่วยบ่อยก็อาจจะเริ่มต้นตรวจที่อายุน้อยกว่านี้ ส่วนเรื่องความถี่ก็ขึ้นกับสิ่งที่ตรวจพบหากพบว่ามีโรคหรือเสี่ยงต่อการเกิด โรคก็อาจจะต้องตรวจถี่ หากไม่เสี่ยงก็อาจจะตรวจทุก 3-5 ปี

จะต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง
1. ก่อนการตรวจสุขภาพ
- ไม่ควรอดนอน ดื่มสุราหรือกาแฟ ในคืนก่อนการตรวจสุขภาพเนื่องจากจะทำให้ความดันโลหิตสูง กว่าที่เป็นจริง
- ควรใส่เสื้อผ้าที่พับแขนเสื้อขึ้นได้สะดวกไม่รัดแน่น เพื่อความสะดวก ในการเจาะเลือด
- ถ้าต้องตรวจภายใน (สภาพสตรี) ควรสวมกระโปรง และควรตรวจก่อนหรือ หลังการมีประจำเดือน 7 วัน
2. การอดอาหารก่อนตรวจสุขภาพ
- การตรวจระดับน้ำตาลในเลือด ต้องงดน้ำและอาหารก่อนการเจาะเลือด 6 ชั่วโมง และตรวจ ไขมันในเลือด ( CHO,TRI,HDL,LDL ) งด 12 ชั่วโมง หากกระหายน้ำหรือหิวน้ำมากให้จิบน้ำเปล่าได้เพียงเล็กน้อย
- หลักจากเจาะเลือดแล้วสามารถรับประทานน้ำและอาหารได้ทันที จากนั้นเข้ารับการตรวจรายการต่อไปได้ ยกเว้นถ้าต้องตรวจอัลตราซาวด์ช่องท้องส่วนบนต่อ ยังคงต้องงดน้ำและอาหารก่อน
3. เมื่อเจาะเลือดเสร็จแล้ว
- ควรพับแขนข้างที่ถูกเจาะเลือดบริเวณข้อพับไว้อย่างน้อย 5-10 นาที ไม่คลึงหรือนวดบริเวณที่ เจาะเลือดเพราะอาจทำให้เส้นเลือดแตกได้
- ในกรณีที่มีรอยช้ำเขียวบริเวณที่เจาะเลือด แสดงว่าเส้นเลือดอาจแตกรอยช้ำดังกล่าวจะหายไปได้เองใน 1-2 สัปดาห์ อาจทายาแก้ฟกช้ำเช่น ฮีรูดอยด์ ช่วยได้ แต่ไม่ควรนวดคลึงบริเวณที่เส้นเลือดแตก
4. การเก็บปัสสาวะ
- ให้ถ่ายปัสสาวะช่วงแรกทิ้งไปก่อนแล้วจึง เก็บปัสสาวะในช่วงกลาง (Mid Stream)
- สุภาพสตรีที่อยู่ในช่วงมีประจำเดือนไม่ควรตรวจ หรือถ้าต้องตรวจกรุณาแจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบ
5. เอกซเรย์ปอด
- ในวันตรวจงดใส่เครื่องประดับต่าง ๆ ที่เป็นโลหะ
- สุภาพสตรีงดใส่ชุดชั้นในที่เป็นโครงเหล็ก
- ไม่ควรเอกซเรย์ หากไม่แน่ใจว่าตั้งครรภ์หรือไม่ หากสงสัยว่าจะมีการตั้งครรภ์ต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ ก่อนการเอกซเรย์
*** ปล. ตอนหน้าจะมาคุยให้ฟังครับว่าการตรวจสุขภาพมีการตรวจอะไรบ้าง วันนี้แค่นี้ก่อนนะครับ ^^

การดูแลสุขภาพ


บุคคลที่มีฐานะดีหรือผู้มีอันจะกินทั้งหลายเป็นกลุ่มคนที่โชคดี เพราะ มีโอกาสในการเลือกสิ่งต่าง ๆ ได้มากกว่ารวมถึงเรื่อง อาหารการกิน ซึ่งอาหารยอดฮิตก็มักจะเป็นอาหารที่มีไขมันมาก เช่น เนื้อสัตว์ติดมันทุกชนิด ไขมันในเครื่องในสัตว์ นม เนยที่มีไขมันสูง โดยเฉพาะอาหารจานโปรด ข้าวขาหมูต้นตำรับสูตรเด็ด ซึ่งอาหารจานเด็ดเหล่านี้เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดโรคต่าง ๆ ได้ เช่น โรคอ้วน,โรคเบาหวาน,โรคอัมพฤกษ์,อัมพาต,โรคไขมันในเลือดสูง,โรคเกาต์ เป็นต้น
บุคคลที่เป็นโรคเหล่านี้ล้วนเกิดจากการรับประทานอาหารที่ไม่พอดี,ไม่ได้สัดส่วนกับความต้องการของร่างกาย ซึ่งความน่ากลัวของโรคเหล่านี้ ก็คือ “ความพิการอย่างเฉียบพลัน”
สาเหตุ เพราะตะกอนของคอเลสเตอรอล หรือไขมันไปจับตามผนังหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดอุดตัน สกัดกั้นไม่ให้เลือดไหลเวียนเข้าสู่หัวใจ และอวัยวะส่วนปลาย อันนำไปสู่โรคอัมพฤกษ์ อัมพาต หัวใจวาย หลอดเลือดตีบตัน ได้สูง
เมื่อร่างกายเกิดความเครียด จะเกิดการเสียสมดุลระหว่างการสร้างและการทำลาย

“ฟรีแรดิคอล” หรือ “อนุมูลอิสระ” โดย มีการสร้างมากกว่าการทำลาย ซึ่งเป็นสารไวต่อการทำปฏิกิริยาทางชีวเคมี มาเข้าทำปฏิกิริยาโจมตีอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น โจมตีผิวหนังทำให้เส้นใยคอลลาเจน และอิลาสติน ซึ่งเป็นสารให้ความยึดของผิวหนัง เกิด “คลอสลิ้ง” เสียความยืดหยุ่น ทำให้เกิดแข็งกระด้าง เหี่ยวย่น,โจมตีเลนส์นัยน์ตา ทำให้ขุ่นมัวกลายเป็นต้อกระจก,โจมตี DNA และ RNA ซึ่งเป็นสารควบคุมพันธุกรรมเกิดการกลายพันธุ์ (Mutation) หรือถ้าโชคร้ายไม่กลายพันธุ์ แต่กลายเป็นเซลล์เนื้อร้ายก็คือเป็น “มะเร็ง”
ดังนั้นเราควรรู้จักดูแลสุขภาพ รักษาคุณภาพของชีวิตด้วยการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ไม่ดื่มสุรา ไม่สูบบุหรี่ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้คุณค่าของโภชนาการที่ครบถ้วน ทำ จิตใจให้ร่าเริงแจ่มใส เพื่อดุลยภาพของร่ายกายที่แข็งแรง ไม่เจ็บป่วยง่าย มีน้ำหนักร่างกายที่เหมาะสมกับรูปร่าง มีสุขภาพที่แข็งแรง ผิวพรรณสดใส อายุยืนยาวตลอดไป

ยินดีต้อนรับทุกท่านครับ


สวัสดีครับทุกท่านที่เข้ามาเยี่ยมชม บล็อกนี้ได้ทำขึ้นเพื่อที่จะให้ความรู้เกี่ยวกับสุขภาพและความรู้ทางด้านการแพทย์เบื้องต้นแก่ผู้ที่มีความสนใจและรักสุขภาพของตนเอง กระผมจะเข้ามาให้ความรู้แก่ท่านทั้งหลายบ่อยๆนะครับ ถ้ามีปัญหาอะไรฝากคำถามหรือข้อคิดเห็นต่างๆไว้ได้ครับ แล้วจะมาตอบให้วันหลังครับ