วันอาทิตย์ที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2553

การตรวจสุขภาพประจำปี


ปัจจุบันสังคมไทยได้มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา การใช้ชีวิตของคนไทยจึงเปลี่ยนไปจากการร ใช้แรงงานทำงานมาเป็นการใช้สมองนั่งโต๊ะทำงาน และการใช้ชีวิตอย่างเร่งรีบทำให้เกิดความเครียด ขาดการออกกำลังกาย ขาดการรับประทานอาหารที่มีคุณภาพ ขาดความสนใจต่อสุขภาพ ทำให้เกิดโรคต่างๆ ซึ่งเกิดจากการไม่ดูแลตัวเองให้ดีเช่น โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ ความดันโลหิตสูง โรคมะเร็งซึ่งโรคเหล่านี้สามารถป้องกันหรือลดอุบัติการณ์ได้โดยการที่เราใส่ ใจดูแลตัวเอง การสืบค้นความผิดปกติของร่างกายตั้งแต่เริ่มต้น เพื่อรับการรักษา อย่างทันท่วงที ก่อนที่รอยโรคต่างๆ จะพัฒนาไปจนเกินแก้ไขเป็นสิ่งสำคัญ ดังนั้น การตรวจสุขภาพประจำปีจึงมีความจำเป็น เพื่อให้คุณมีสุขภาพดี มีชีวิตยืนยาว และเป็นการส่งเสริมคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน

ควรจะตรวจสุขภาพตั้งแต่อายุเท่าใด
ในความเป็นจริงเราเริ่มต้นตรวจสุขภาพตั้งแต่แรกเกิด เลย จะเห็นได้ว่าหลังจากคลอดคุณหมอจะนัดพาเด็กไปตรวจสุขภาพชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง วัดรอบศีรษะและฉีดวัคซีนป้องกันโรค แต่สำหรับผู้ใหญ่ที่แข็งแรง ไม่มีโรคทางกรรมพันธุ์ในครอบครัวก็อาจจะจะเริ่มต้นตรวจเมื่ออายุ 35 ปีแต่หากคุณเป็นคนอ้วน มีประวัติเบาหวานในครอบครัว ประวัติโรคหลอดเลือดหัวใจของญาติสายตรง ไขมันสูงในครอบครัวหรือเจ็บป่วยบ่อยก็อาจจะเริ่มต้นตรวจที่อายุน้อยกว่านี้ ส่วนเรื่องความถี่ก็ขึ้นกับสิ่งที่ตรวจพบหากพบว่ามีโรคหรือเสี่ยงต่อการเกิด โรคก็อาจจะต้องตรวจถี่ หากไม่เสี่ยงก็อาจจะตรวจทุก 3-5 ปี

จะต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง
1. ก่อนการตรวจสุขภาพ
- ไม่ควรอดนอน ดื่มสุราหรือกาแฟ ในคืนก่อนการตรวจสุขภาพเนื่องจากจะทำให้ความดันโลหิตสูง กว่าที่เป็นจริง
- ควรใส่เสื้อผ้าที่พับแขนเสื้อขึ้นได้สะดวกไม่รัดแน่น เพื่อความสะดวก ในการเจาะเลือด
- ถ้าต้องตรวจภายใน (สภาพสตรี) ควรสวมกระโปรง และควรตรวจก่อนหรือ หลังการมีประจำเดือน 7 วัน
2. การอดอาหารก่อนตรวจสุขภาพ
- การตรวจระดับน้ำตาลในเลือด ต้องงดน้ำและอาหารก่อนการเจาะเลือด 6 ชั่วโมง และตรวจ ไขมันในเลือด ( CHO,TRI,HDL,LDL ) งด 12 ชั่วโมง หากกระหายน้ำหรือหิวน้ำมากให้จิบน้ำเปล่าได้เพียงเล็กน้อย
- หลักจากเจาะเลือดแล้วสามารถรับประทานน้ำและอาหารได้ทันที จากนั้นเข้ารับการตรวจรายการต่อไปได้ ยกเว้นถ้าต้องตรวจอัลตราซาวด์ช่องท้องส่วนบนต่อ ยังคงต้องงดน้ำและอาหารก่อน
3. เมื่อเจาะเลือดเสร็จแล้ว
- ควรพับแขนข้างที่ถูกเจาะเลือดบริเวณข้อพับไว้อย่างน้อย 5-10 นาที ไม่คลึงหรือนวดบริเวณที่ เจาะเลือดเพราะอาจทำให้เส้นเลือดแตกได้
- ในกรณีที่มีรอยช้ำเขียวบริเวณที่เจาะเลือด แสดงว่าเส้นเลือดอาจแตกรอยช้ำดังกล่าวจะหายไปได้เองใน 1-2 สัปดาห์ อาจทายาแก้ฟกช้ำเช่น ฮีรูดอยด์ ช่วยได้ แต่ไม่ควรนวดคลึงบริเวณที่เส้นเลือดแตก
4. การเก็บปัสสาวะ
- ให้ถ่ายปัสสาวะช่วงแรกทิ้งไปก่อนแล้วจึง เก็บปัสสาวะในช่วงกลาง (Mid Stream)
- สุภาพสตรีที่อยู่ในช่วงมีประจำเดือนไม่ควรตรวจ หรือถ้าต้องตรวจกรุณาแจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบ
5. เอกซเรย์ปอด
- ในวันตรวจงดใส่เครื่องประดับต่าง ๆ ที่เป็นโลหะ
- สุภาพสตรีงดใส่ชุดชั้นในที่เป็นโครงเหล็ก
- ไม่ควรเอกซเรย์ หากไม่แน่ใจว่าตั้งครรภ์หรือไม่ หากสงสัยว่าจะมีการตั้งครรภ์ต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ ก่อนการเอกซเรย์
*** ปล. ตอนหน้าจะมาคุยให้ฟังครับว่าการตรวจสุขภาพมีการตรวจอะไรบ้าง วันนี้แค่นี้ก่อนนะครับ ^^

0 ความคิดเห็น: